วันอังคารที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

เลือกคณะเรียนอย่างไร ไม่ให้ "ซิ่ว"

ก้าวแรกของการสู่ชีวิตมหาวิทยาลัย คงต้องถามตัวเองก่อนว่าเราอยากทำงานอาชีพอะไร และมีปัจจัยใดบ้างที่นอกจากใบปริญญาบัตร ที่จะทำให้เราสามารถก้าวเข้าสู่สายอาชีพนั้นๆ ได้ดังใจฝัน หลายคนหาคำตอบให้กับตัวเองได้ และมองเห็นเส้นทางสายอาชีพนั้นโดยไม่ลังเล

แต่อย่าลืมว่าสิ่งที่เลือกนั้น ต้องสอดคล้องกับความชอบ และความถนัดของตัวเองด้วย เพราะหากเลือกเรียนผิด ต้องเสียเวลาย้อนกลับไปเริ่มต้นใหม่ ในขณะเดียวกันก็ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ยังอาจสับสนกับเส้นทางที่ตัวเองต้องเลือก..


อาจารย์ธิดาพร ชนะชัย อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ให้คำแนะนำถึงปัญหาการเปลี่ยนคณะ หรือมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นปัญหาหลักของนักศึกษาสมัยนี้ว่า.."บางคนมีเป้าหมายอาชีพในใจ แต่กลับต้องเรียนในสิ่งที่ผู้ปกครองแนะนำ

หรือบางคนก็เลือกเรียนตามเพื่อน แต่เมื่อเวลาผ่านไป หลายคนพบว่าตนเองกำลังมีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้น เช่น คณะหรือสาขาที่เลือกเรียนจบแล้วหางานยาก ไม่ชอบในสิ่งที่กำลังเรียนอยู่ หรือเข้ากับอาจารย์หรือเพื่อนไม่ได้"
"จนกระทั่งทำให้นักศึกษาบางคนอาจทำเรื่องขอย้ายคณะ หรือย้ายสาขา แต่บางคนอาจย้ายไปเรียนมหาวิทยาลัยอื่นเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่นักศึกษาสามารถทำได้ แต่ก่อนที่จะตัดสินใจเช่นนั้นควรถามตัวเองถึงสาเหตุสำคัญ และวิเคราะห์ปัญหา รวมทั้งพิจารณาทางแก้ไขในรูปแบบอื่นก่อน"


นอกจากนี้ อาจารย์ธิดาพร ยังได้ฝากความห่วยใย รวมถึงข้อคิดให้นักศึกษาหลายคนที่ตั้งใจจะเป็น "เด็กซิ่ว" โดยการย้ายมหาวิทยาลัย หรือคณะด้วยว่า.. การจะย้ายไปที่ไหนนั้นควรใช้เหตุผลหลายๆ อย่างมาประกอบ ซึ่งได้จัดมาเป็นหัวข้อหลักๆ ดังนี้.. ค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ไม่ว่าจะเป็น ค่าหน่วยกิต ค่าบำรุง และค่าธรรมเนียมต่างๆ ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยมีการกำหนดค่าหน่วยกิตต่างกัน แม้ในมหาวิทยาลัยเดียวกัน ต่างคณะกัน ค่าหน่วยกิตก็ยังต่างกัน ส่วนค่าบำรุง และค่าธรรมเนียมเป็นค่าใช้จ่ายที่ครอบคลุมไปถึงการบริการในรูปแบบต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยจัดไว้ให้นักศึกษา ซึ่งโดยรวมแล้วมหาวิทยาลัยเอกชนมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐบาลอย่างมาก.. กองทุนเพื่อการศึกษาต่างๆ

นับว่ามีความจำเป็นมากสำหรับนักศึกษาในปัจจุบัน เพราะค่าใช้จ่ายในการเรียนระดับมหาวิทยาลัยมีตัวเลขที่สูงพอสมควร โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชน กองทุนเพื่อการศึกษาต่างๆ ที่รัฐบาลจัดไว้ หรือที่มหาวิทยาลัยตั้งขึ้นจึงเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ครอบครัวมีรายได้ไม่มากนัก เช่น กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา [กยศ.] สำหรับนักศึกษาที่ครอบครัวมีรายได้ต่อปีรวมแล้วไม่เกิน 150,000 บาท เมื่อเรียนจบแล้วต้องใช้ทุนคืนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด นอกจากนี้บางมหาวิทยาลัยยังมีกองทุนเพื่อการศึกษาอื่นอีกหลายกองทุน..


คณะ และสาขาที่เปิดสอน
มหาวิทยาลัยต่างๆ มีคณะ และสาขาที่หลากหลาย ให้นักศึกษาได้เลือกเรียน แต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมีความโดดเด่นในคณะ หรือสาขาที่แตกต่างกัน ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุด นักศึกษาควรเลือกเรียนในคณะ หรือสาขาที่ตนเองถนัด รักในสิ่งที่จะเรียน และเป็นสาขาที่จบมาแล้วมีงานทำอย่างแน่นอน ไม่ควรเลือกเรียนตามกระแสความนิยม หรือตามเพื่อน เพราะสิ่งนี้จะไม่ทำให้นักศึกษาประสบความสำเร็จในชีวิตการเรียนได้เลย..


อาจารย์
นับว่าเป็นบุคลากรที่สำคัญ เพราะจะเป็นผู้ที่ช่วยสร้างนักศึกษาให้ประสบความสำเร็จและมีอาชีพที่มั่นคงในอนาคต มาตรฐานของอาจารย์ในแต่ละมหาวิทยาลัยจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและเชื่อถือให้กับนักศึกษาได้เป็นอย่างดี


งานรองรับในอนาคต
นักศึกษาควรจะเลือกศึกษาในมหาวิทยาลัย คณะ หรือสาขาที่สามารถหางานรองรับได้ง่ายหลังจากที่เรียนจบแล้ว เพราะเป้าหมายของการเรียนก็คือ การได้งานที่มั่นคง


สถานที่ตั้งและการเดินทาง
บริเวณที่ตั้งของมหาวิทยาลัย และการเดินทางเพื่อมาเรียนนับว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญ เพราะนักศึกษาต้องใช้ชีวิตในการเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยอย่างน้อยประมาณ 4 ปี ความสะดวกในเรื่องของการเดินทางจึงเป็นปัจจัยที่ควรคำนึงถึงอย่างมาก โดยพิจารณาว่ามหาวิทยาลัยแห่งนั้นตั้งอยู่ในตัวเมือง หรือรอบนอกเมือง มีรถประจำทางผ่านมากน้อยเพียงใด มีรถไฟฟ้าหรือไม่ ต้องใช้เวลาในการเดินทางเท่าใด..


การบริการที่มหาวิทยาลัยจัดไว้
ถือว่าเป็นมาตรฐานที่มหาวิทยาลัยควรจัดไว้สำหรับนักศึกษาประกอบด้วย หอพักที่สะอาด และปลอดภัยสำหรับนักศึกษาที่ไม่สะดวกในการเดินทาง หรือมีที่พักอยู่ต่างจังหวัด ห้องเรียนที่มีอุปกรณ์เพื่ออำนวยความสะดวกในการเรียนอย่างพร้อมเพรียง ศูนย์คอมพิวเตอร์ และศูนย์บริการอินเทอร์เน็ต ศูนย์กีฬาในร่มและกลางแจ้ง รวมถึงศูนย์บริการฟิตเนส การประกันอุบัติเหตุและการรักษาพยาบาล, ห้องอาหารที่สะอาด ร้ายขายหนังสือที่หลากหลาย ธนาคารซึ่งเป็นสาขาย่อยภายในมหาวิทยาลัย ศูนย์บริการไปรษณีย์..


บรรยากาศในมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยที่ดีควรมีบรรยากาศที่ร่มรื่น และน่ารื่นรมย์ สามารถสร้างความรู้สึก หรือกระตุ้นให้มีความอยากเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี มีภาพลักษณ์ที่ดีน่าเชื่อถือต่อสายตาของบุคคลภายนอก และนักศึกษาควรมีความภูมิใจที่ได้เข้ามาศึกษา ณ สถานศึกษานี้..


ผลการเรียนของตนเอง
นักศึกษาต้องพิจารณาว่าผลการเรียนของตนเองเหมาะที่จะเรียนในคณะ หรือสาขาใด เพราะบางคณะจะมีการกำหนดเกรดขั้นต่ำสำหรับผู้ที่จะเข้าศึกษา และเมื่อเลือกเรียนในคณะนั้นแล้วต้องสามารถทำเกรด หรือคะแนนให้สูงขึ้นได้ไม่ยากอีกด้วย..


เพื่อน
สำหรับการเรียนในมหาวิทยาลัยนั้นกลุ่มเพื่อน หรือเพื่อนสนิทนับว่ามีความสำคัญ เพื่อช่วยเหลือกันในเรื่องของการเรียน และการทำกิจกรรม แต่ไม่ใช่การติดเพื่อนจนไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง.. แต่ต้องขอเน้นย้ำว่าเพื่อนในสังคมมหาวิทยาลัย จะอิสระ และใกล้ชิดสนิทสนมน้อยกว่าระดับมัธยม ดังนั้นเมื่อเข้าไปเรียนแรกๆ หลายๆ คนอาจจะต้องเจอกับอาการเหงา..
ปัญหาการเรียนคณะผิด การย้ายที่เรียน หรือการซิ่วของเด็กแต่ละปี ขอบอกว่ามันเยอะจนน่าตกใจมากๆ



ไม่มีความคิดเห็น: